การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2566

นางซีลวี เรอตาโย (Sylvie Retailleau) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2566 เพื่อกระชับความร่วมมือทวิภาคีด้านนวัตกรรม ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในสาขานวัตกรรม โดยเฉพาะสาขาอวกาศภายหลังการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ของไทยขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ การเยือนครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาในเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการร่วมสนับสนุนทุนศึกษาวิจัย ตลอดจนพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในประเด็นระดับโลกด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินการในรูปแบบทวิภาคีและระดับภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานวิจัยฝรั่งเศส

การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศสครั้งนี้ยังเป็นการเยือนในโอกาสที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ในปี 2566

กำหนดการการเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศส ประกอบด้วย

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2566

– พบหารือทวิภาคีกับนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

– พบปะผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และผู้ประกอบวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวไทย ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ

– หารือกับผู้แทนหน่วยงานวิจัยฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและภูมิภาค และพบปะนักเรียนเก่าประเทศฝรั่งเศส ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย รวมทั้งร่วมงานเลี้ยงรับรอง ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และเป็นสักขีพยานการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ (General Agreement for Scientific and Technical Cooperation) ระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (Institut de recherche pour le développement: IRD) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงงานเลี้ยงรับรอง

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2566

– พบหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. และนักวิจัยสถาบัน IRD ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

– เป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) กับศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (Centre de coopération internationale en recherche agronomique pour le développement: CIRAD) ณ สถาบัน AIT

– เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และพบหารือกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงพบปะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ

– เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเป็นสักขีพยานการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ (General Agreement for Scientific and Technical Cooperation) ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสถาบัน IRD ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

– ร่วมงานเลี้ยงรับรอง ณ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (Ecole française d’Extrême-Orient: EFEO) ศูนย์เชียงใหม่ และหารือกับนักวิจัยฝรั่งเศสและไทยเกี่ยวกับโครงการวิจัยต่าง ๆ ในช่วงงานเลี้ยงรับรอง

 

ข้อมูลความร่วมมือทวิภาคีฝรั่งเศส-ไทย ด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์

ฝรั่งเศสและไทยมีความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างกันมายาวนาน และได้ขยายความร่วมมือมากขึ้นสู่ระดับภูมิภาค ฝรั่งเศสสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัยผ่านโครงการทุนที่ฝรั่งเศสและไทยร่วมสนับสนุนจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการทุน Franco–Thai Scholarship Program ซึ่งในปี 2565 มีการจัดสรรทุนจำนวน 25 ทุน รวมเป็นเงิน 900,000 ยูโร 2) โครงการทุน Franco-Thai Young Talent Research Fellowship Program โดยเริ่มมีการร่วมสนับสนุนทุนในปี 2566 เป็นจำนวนเงิน 100,000 ยูโร 3) โครงการทุน Partenariat Hubert Curien – PHC Siam สำหรับโครงการวิจัยที่สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัยเป็นผู้เสนอ โดยนับตั้งแต่ปี 2550 มีการจัดสรรทุนให้โครงการวิจัยแล้วจำนวน 174 โครงการ รวมเป็นเงิน 200,000 ยูโร ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับฝรั่งเศสมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ในภาคพื้นเอเชีย-โอเชียเนีย โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 30 เป็นงานวิจัยด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และร้อยละ 25 เป็นงานวิจัยด้านการแพทย์

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาค ประกอบด้วยหน่วยงานวิจัยฝรั่งเศส 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (Ecole française d’Extrême-Orient: EFEO) ศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยเกษตรกรรมเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (Centre de coopération internationale en recherche agronomique pour le développement: CIRAD) สถาบันวิจัยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย (Institut de Recherche sur l’Asie du Sud-Est Contemporaine: IRASEC) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (Institut de recherche pour le développement: IRD) ซึ่งการที่หน่วยงานวิจัยดังกล่าวมีสำนักงานอยู่ในภูมิภาคทำให้สามารถดำเนินความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นได้อย่างสะดวกด้วยเครื่องมือสนับสนุนทางการเงินของตนเอง และทำให้สามารถเข้าไปมีส่วนในโครงการต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนของโครงการทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรประหว่าง ค.ศ. 2014-2020 (Horizon 2020) และระหว่าง ค.ศ. 2021-2027 (Horizon Europe)