มูลนิธิซีบีเอ (CBA Foundation) เปิดตัวโครงการ ‘Chula WISE’ สำหรับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มที่ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ ChAMP (Chulalongkorn Alumni Mentorship Program) เป็น Mentoring Program โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บุกเบิกใช้ระบบ Mentoring จากพี่ศิษย์เก่าสู่น้อง จนประสบความสำเร็จ ขยายสู่วงกว้าง โดยมีสถาบันการศึกษาอื่น ๆ รวมถึงองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน นำหลักการนี้ไปใช้ จนเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเส้นทางในการพัฒนาบุคลากรแนวใหม่
เพื่อตอบโจทย์นิสิตจำนวนมากที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง ทางโครงการ ChAMP จึงได้นำเทคโนโลยีออนไลน์มาสรรค์สร้าง ‘Chula WISE’ เป็นโครงการออนไลน์ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนานิสิตให้เข้ากับบริบทการศึกษาในปัจจุบัน ที่การเรียนรู้ไม่ได้จำเพาะอยู่แค่ในชั้นเรียน แต่เป็น Lifelong Learning อันเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในยุควิถีปกติใหม่นับจากนี้ไป เพื่อให้นิสิตมีรากฐานอันแข็งแกร่งในการต่อยอดสู่โลกอนาคต
ศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงกลยุทธ์และนโยบายของจุฬาฯ ว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่สถานศึกษา แต่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรคุณภาพที่มีความก้าวหน้า และความมั่นคงในการดำเนินชีวิต การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยต่อจากนี้ จะต้องได้ทั้งความรู้ ปัญญา ประสบการณ์ และ ความชาญฉลาด เหนือสิ่งอื่นใด หนึ่งในคุณค่าหลักของมหาวิทยาลัยคือการส่งเสริมให้เกิดการมอบมิตรภาพที่ดีจากเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง รวมถึงคณาจารย์ ความผูกพันอันล้ำค่าที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีต่ออาชีพการงาน และความก้าวหน้าในอนาคต เพราะจุดแข็งของจุฬาฯ คือ การที่นิสิตเก่าทั่วประเทศพร้อมใจกันช่วยเหลือส่งเสริมพลังให้กับรุ่นน้องให้มีความแข็งแกร่ง อันจะนำไปสู่การสร้างประเทศและสังคมไทยที่แข็งแรง ”
“หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะนำพาจุฬาฯ ไปสู่มหาวิทยาลัยที่ก้าวทันโลกคือการสร้างเชื่อมโยงจุฬาฯ กับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้าง Future Global Leaders สอดคล้องกับการเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ที่ไม่จำกัดการเรียนเพียงแค่ในสถาบันการศึกษา หรือการเรียนรู้แค่ในคณะใดคณะหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ เข้าถึงได้ทุกองค์ความรู้ และเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของศิษย์เก่าไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพราะบทบาทของจุฬาฯ วันนี้ที่เราต้องสร้างผู้คิดและสร้างผู้นํา” ศ. ดร. วิเลิศ กล่าว
รศ. ม.ล. สาวิกา อุณหนันท์ รองประธาน มูลนิธิซีบีเอ กล่าวถึงที่มาของโครงการและการสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการ ‘Chula WISE’ ว่า “มูลนิธิซีบีเอจัดตั้งขึ้นด้วยเงินทุนที่ได้รับบริจาคจากการดำเนินงานของบริษัทจำลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ซีบีเอ ในแต่ละปี เพื่อนำมาสร้างโครงการที่เป็นประโยชน์ให้กับนิสิตจุฬาฯ โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนโครงการ ChAMP และ Coach by ChAMP จึงเล็งเห็นว่า โครงการ Chula ‘Wisdom for Self-Enrichment’ หรือ Chula WISE เป็นโครงการต่อยอดจาก ChAMP ซึ่งเป็น Mentoring Program ที่เปิดโอกาสให้นิสิตจำนวนมากเข้าร่วมกระบวนการ ‘Mentoring’ เพื่อเป็น ‘Mentee’ ได้ตลอดปี โดยนิสิตจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด ตลอดจนประสบการณ์อันมีค่า จาก Mentor ศิษย์เก่าซึ่งเป็นบุคคลชั้นนําในสายงานต่างๆ และเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนผู้มีประสบการณ์การเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอาทิ Stanford University, Harvard University, MIT, University of Cambridge เป็นต้น
มูลนิธิฯ จึงเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการ Chula WISE ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมการ Mentoring แบบ Agenda- based หรือการ Mentoring ตามหัวข้อที่สนใจ และประเด็นที่เจาะจงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ wisementorship.org อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนิสิตให้มีทักษะในมิติต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม”
ด้าน ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย (Country Marketing Manager, Google Thailand) กล่าวในฐานะประธานโครงการ Chula WISE และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มและพัฒนาโครงการ Chula WISE ว่า “ที่ผ่านมาตลอด 12 ปี โครงการ ChAMP จะเปิดรับเพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น การต่อยอดความสำเร็จมาสู่ Chula WISE จะเป็นการปลดล็อคให้นิสิตมีโอกาสเข้าถึง Mentor มากกว่า 50 คนจากหลากหลายสายงานได้ตลอดทั้งปี โดยเหล่า Mentor จะส่งต่อประสบการณ์ชีวิต และแชร์แนวคิดต่าง ๆ ให้กับน้อง ๆ ไม่แต่เฉพาะเรื่องการเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ การทำงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิตและการสร้างคุณค่าให้กับสังคม ผ่านแพลตฟอร์ม Mentoring แบบ On Demand สามารถนัดเวลาที่สะดวกได้ตามต้องการ คุยแบบส่วนตัว ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ที่สำคัญไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และเชื่อมั่นว่าในเฟสต่อไปโครงการ Chula WISE จะสามารถขยายไปสู่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับการพัฒนาการศึกษาของไทย”
การ Mentoring จะเป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพ Mentee ให้มีความเข้าใจในตนเองมากขึ้น ผ่านกระบวนการช่วยคิดและชวนคิด อันเป็นกระบวนการเสริมสร้างปัญญาด้วยการสร้างมุมมอง “สะท้อนย้อนคิด” (Reflection) รวมถึงการผสมผสานทั้งการโค้ชชิ่ง (Coaching) และการแนะนำ (Advise) จาก Mentorเพื่อดึงเอาศักยภาพของ Mentee ออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อผลักดันให้ก้าวสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
ตัวอย่างศิษย์เก่าที่เข้าร่วมเป็น Mentor ในโครงการ Chula WISE ปีนี้ ปัจจุบันทำงานในบริษัทชั้นนำ อาทิ Google, Microsoft, The Walt Disney Company, Kiatnakin Phatra Bank, Sea Group เป็นต้น
นิสิตปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคนจากทุกคณะและทุกชั้นปี สามารถสมัครเป็น Mentee ของโครงการ Chula WISE ได้ที่ https://wisementorship.org/ และติดตามรายละเอียดการสมัครได้ที่เฟซบุ๊ก: wise mentoring หรือ IG: wise.mentoring โดยเปิดรับสมัครตลอดทั้งปี