สนั่น ชม 3 เดือน รัฐบาลอิ้งค์สอบผ่านมีความตั้งใจมุ่งมั่น เสริมยุทธศาสตร์ปีหน้า สร้างความเชื่อมั่น-กระจายรายได้-ความเข้มแข็ง SMEs ช่วยประเทศเดินหน้า

(กรุงเทพฯ 16 ธันวาคม 2567) หอการค้าไทย ชื่นชมรัฐบาลภาพรวมการทำงานตลอดช่วง
90 วันที่ผ่านมา ของรัฐบาลนายกแพทองธาร ชินวัตร โดยเฉพาะในประเด็นความพยายามและ
ความตั้งใจ ในการผลักดันนโยบายใหม่ใหม่ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ
และปัญหาความตึงเครียดของการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ พร้อมฝากข้อเสนอแนะ
เสริมยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2568

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทย ต้องขอชื่นชมรัฐบาลในภาพรวมการทำงานตลอดช่วง 90 วันที่ผ่านมาของรัฐบาลนายกแพทองธาร ชินวัตร โดยเฉพาะในประเด็นความพยายามและความตั้งใจ ซึ่งหลายนโยบายของรัฐบาลดำเนินมาถูกทางและทำได้ดี อาทิ
ด้านการท่องเที่ยว และซอฟเพาเวอร์ เรื่องนี้ต้องชื่นชมรัฐบาลที่พยายามผลักดันหลายมาตรการเพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้โดดเด่นในวันนี้ ตั้งแต่การยกเลิกวีซ่าเข้าไทยกับหลายสิบประเทศทั่วโลก การปรับขั้นตอนและอำนวยความสะดวกคนเข้าเมือง ขณะเดียวกันภายในประเทศก็มีการเร่งโปรโมทนโยบายซอฟเพาเวอร์
ทั้งด้านอาหาร การจัดบิ๊กอีเว้นท์และเฟสติวัล เทศกาลสำคัญ ๆ ของประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้มีผลต่อความเชื่อมั่น
กระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้วันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 32 ล้านคน (ข้อมูล 1 ม.ค. – 8 ธ.ค. 2567) ซึ่งส่วนนี้หากมีการวางแผนและเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น เชื่อว่าปีหน้าอาจทำให้เราได้เห็นนักท่องเที่ยวกลับมาแตะ 40 ล้านคนได้ ด้านการดึงดูดการลงทุน ส่วนนี้ก็ต้องชื่นชมความพยายาม ของรัฐบาลในการดึงบิ๊กคอร์ป
ยักษ์ใหญ่ของโลกในด้านเทคโนโลยี เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการ Data Center, Cloud Service, อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน EV, การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีตัวเลขการเข้ามาลงทุน เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อีกส่วนคือความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจ ที่เป็นเหมือนตัวฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในวันนี้ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ และตัวเลขหนี้สาธารณะยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แต่ก็เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล โดยเฉพาะการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ซึ่งหอการค้าฯ ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ตอบรับข้อนำเสนอหลายมาตรการของเอกชน โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญคือการเร่งแก้ไขหนี้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะหนี้รถปิกอัพ ที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชนไม่ให้ถูกยึด รวมถึงการพิจารณาลด ยืด
หนี้ของประชาชน ซึ่งได้นำมาสู่ นโยบายแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐบาลในวันนี้ ส่วนนี้นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ยังจะช่วยสร้างโอกาสและลดความเลื่อมล้ำได้มาก

จากที่รัฐบาลประกาศแผน 11 นโยบาย เพื่อ “โอกาส” ของคนไทย โดยแบ่งเป็น 5 นโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันทีในปีหน้า ประกอบด้วย 1) โครงการ SML 2) หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน 3) ดิจิทัลวอลเล็ต 4) การแก้หนี้ครัวเรือน และ 5) บ้านเพื่อคนไทย ผนวกกับ 6 นโยบายเชิงโครงสร้างระยะยาว ประกอบด้วย 1) การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง 2) การแก้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 3) ปัญหายาเสพติด 4) การทลายการผูกขาด 5) การแก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบ และ 6) นโยบายการลงทุน ส่วนนี้หอการค้าฯ เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

สำหรับปี 2568 หอการค้าไทย ยังประเมินเบื้องต้นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจ
ไม่โดดเด่นไปมากกว่าปีนี้มากนัก เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปัญหาสงครามในหลายภูมิภาค การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งยังขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี Impact ต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในช่วงต้นปีแรกของปี 2568 ดังนั้น หอการค้าฯ จึงอยากฝากให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคี มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว ในจังหวัดที่มีศักยภาพ หรือจังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ และความเจริญให้ทั่วถึง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงรุก Soft Power ของรัฐบาล จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวปีหน้าให้เติบโตได้ก้าวกระโดด ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่อย่างการแก้ไขปัญหาหนี้ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการเฉพาะในหนี้แต่ละประเภท ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน สำหรับภาคการส่งออก ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 68 ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องขอชื่นชมภาครัฐที่สามารถเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้ FTA-EFTA ระหว่างประเทศไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปได้สำเร็จ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการค้า การส่งออกของไทยในอนาคต นอกจากนี้ ภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยดูแลการค้าให้เป็นธรรม ไม่เป็นตลาดที่ดัมพ์สินค้าไร้คุณภาพ ซึ่งจะทำลายตลาดระยะยาวของประเทศ

ทั้งนี้ ข้อเสนอสมุดปกขาว ทั้งจากหอการค้าไทย และ กกร. ที่ได้รวบรวมความคิดเห็นของภาคเอกชนทั่วประเทศ จัดทำเป็นข้อเสนอและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลสามารถนำไปพิจารณา และปรับเป็นมาตรการที่เหมาะสมก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถที่จะเดินหน้า ท้าทายกับความผันผวนของเศรษฐกิจปี 2568 ได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถเติบโตได้เป้าหมายต่อไป โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าจีดีพีปี 2568 อาจเติบโตได้ในกรอบ 2.8 – 3.2%